การบริหารความเสี่ยง

10

December 4, 2010 by Lin

สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญต่อการลงทุนระยะยาวที่สุดคือการบริหารความเสี่ยง เพราะมันเป็นองค์ประกอบให้คุณอยู่ในเกมส์ได้ยาวนานเพียงพอ คนที่ออกจากเกมส์ก่อนไม่มีทางเป็นผู้ชนะ และโดยปกติการลงทุนมักจะไม่สามารถนิยามคำว่า “ชนะ” หรือ “จบการแข่งขัน” ได้ชัดเจนนัก เพราะถ้าเป็นการแข่งขันอื่น ๆ ที่มีกลไกทางเวลามาเกี่ยวข้อง ชัยชนะวัดกันที่เสียงนกหวีดหรือระฆังหมดเวลา (ดังนั้นเราจะบริหารความเสี่ยงได้ง่ายกว่า) แต่เกมส์การลงทุนยาวนานไม่น้อยไปกว่ากิเลสที่มนุษย์มี ผมจะพยายามลองไล่สิ่งที่ผมคิดว่าช่วยบริหารความเสี่ยงให้เราสามารถอยู่ในเกมส์อย่างยาวนาน

1. Circle of Competency
สิ่ง ๆ นี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด คือความรอบรู้ และการเข้าใจถึงขอบเขตความรู้ตัวเอง ความไม่รู้คือความเสี่ยง และความไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้คือหนทางสู่หายนะ ความรู้ที่ผมพูดถึงคือ ความเข้าใจในตัวธุรกิจ ตั้งแต่รูปแบบการทำธุรกิจ ลูกค้า Supplier ผู้บริหาร การจัดการ การแข่งขัน คู่แข่ง ความเสี่ยงต่าง ๆ แนวโน้ม ฯลฯ ยิ่งรู้มากความเสี่ยงยิ่งลดลงเท่านั้น และการประเมินความรู้ตัวเองได้ จะช่วยให้คุณไม่เข้าไปลงทุนในสิ่งที่คุณไม่เข้าใจ

2. Portfolio management
สิ่งที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยงคือการสร้างพอร์ตโฟลิโอที่มีโครงสร้างที่ดีต่อวงจรเศรษฐกิจแบบต่าง ๆ หลายคนมุ่งเน้นการลงทุนแบบ Focus คือลงทุนในหุ้นน้อยตัว เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง และชดเชยความเสี่ยงด้วยความเข้าใจในธุรกิจนั้นมาก ๆ ผมคิดว่าเป็นกลยุทธ์ที่ไม่เหมาะกับคนทั่ว ๆ ไป เพราะคุณจำเป็นต้องแน่ใจว่าคุณรู้มากกว่าหรือรู้ข้อมูลก่อนคนอื่น (ซึ่งบ่อยครั้งคนจะสำคัญตัวเองผิดไปว่าเหนือกว่าคนอื่นในตลาด) นอกจากนั้นเหตุการณ์ที่โอกาสเกิดต่ำมาก ๆ ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เกิด ธุรกิจอาจจะประสบปัญหาอะไรบางอย่างที่คาดไม่ถึง ความผิดพลาดทั้งที่เกิดขึ้นในการบริหารและสภาวะแวดล้อม ไม่มีใครรู้ว่า Enrons จะล่มสลาย หรือ Lehman Brother, AIG ดังนั้น การมีหุ้นหลายตัวเป็นสิ่งจำเป็น การถือหุ้นตัวเดียวผมไม่คิดว่าเป็นแนวคิดที่ดี โดยเฉพาะกับโลกในยุคปัจจุบัน

3. Margin of Safety
นอกจากโครงสร้างข้างต้นแล้ว ตาข่ายอีกชั้นหนึ่งที่รองรับความเสี่ยงคุณได้คือส่วนต่างความปลอดภัยจากมูลค่าของมัน ซึ่งสำหรับตัวผมเอง ไม่ได้กำหนดออกมาเป็นตัวเลขเป๊ะ ๆ เพราะหลาย ๆ ครั้ง มูลค่ากิจการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามสภาวะแวดล้อมหรือกิจการที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่มองเหมือนเป็นภาพรวม ๆ มากกว่า ยกตัวอย่าเหมือนเวลาซื้อรถยนต์มือสอง 1 คัน การที่จะตีราคาซื้อ คงไม่จำเป็นถึงกับว่าต้องไปดูทุกน้อตทุกตัว และเอามาตีราคา (และแน่นอนไม่ใช่การเปิดหนังสือเพื่อดูราคาตลาด เพราะรถแต่ละคันก็ไม่เหมือนกัน) แต่เราควรจะเข้าใจว่าการซื้อรถมือสอง สิ่งไหนเป็นสิ่งที่สำคัญต่อมูลค่าที่สุด การเข้าใจองค์ประกอบหลัก ๆ ของเพียงพอในการชดเชยความผิดพลาดในการตีองค์ประกอบย่อย ๆ อีกส่วนหนึ่งที่ผมชอบดูคือ ถ้าราคาหุ้นยังไม่ขึ้นมาก และยังไม่ค่อยดัง ย่อมมีโอกาสที่จะมี Margin of Safety มากกว่า หุ้นที่ขึ้นไปเป็นบ้าเป็นหลังแล้ว

4. Quality of Business
สิ่งที่ผมคิดว่าช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างหนึ่ง คือคุณภาพของกิจการ กิจการคุณภาพสูงย่อมนำผลตอบแทนสู่ผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว ทำให้โอกาสที่คุณจะมีผลตอบแทนไม่ดี มีเพียงอย่างเดียว คือคุณซื้อกิจการในราคาที่สูงเกินไป และหลายครั้งการมีหุ้นคุณภาพดี ช่วยให้เรากล้าถือหุ้นได้ยาวนานขึ้น ซึ่งนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว อีกเหตุผลหนึ่งคือ ถ้าคุณถือหุ้นที่ดี คุณก็ไม่จำเป็นต้องขายเพื่อไปซื้อหุ้นอื่น (ซึ่งเพิ่มความเสี่ยง) การมีธุรกิจที่ยิ่งเวลานาน ยิ่งแข็งแรง เป็นการบริหารความเสี่ยงที่ดีอีกวิธีหนึ่ง

5. Reality and Truth of Investment
ความจริงที่ผมหมายถึงคือความไม่เพ้อฝันในสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เช่นบางคนแย้งผมว่า การลงทุนแบบปลอดภัยเหมาะสมกับผู้ที่มีพอร์ตโฟลิโอขนาดใหญ่แล้ว คนที่เพิ่งเริ่มต้นไม่ควรจะลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งผมไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้น พอร์ตจะเล็กหรือใหญ่ก็สามารถลงทุนเสี่ยงได้มากหรือน้อยเท่ากัน ความสำคัญอยู่ในการจัดการความเสี่ยง แต่บางครั้งสิ่งที่ทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงโดยไม่จำเป็นคือ จุดมุ่งหมายที่ใหญ่เกินธรรมชาติของมัน หลายคนมุ่งเป้าผลตอบแทนระดับหลายสิบหรือร้อยเปอร์เซนต์ต่อปี ถ้ามาดูที่ข้อเท็จจริง ต้องยอมรับว่าการลงทุนที่ดีที่สุดในโลกอย่างบัฟเฟต มีผลตอบแทน 20% กว่า ๆ หรือถ้าคิดอีกแง่ว่า ถ้าการลงทุนให้ผลตอบแทนสูงขนาดนี้ บริษัทต่าง ๆ จะทำธุรกิจเองทำไม สู้ไปกู้เงิน(ที่มีต้นทุนไม่ถึงสิบเปอร์เซนต์) มาลงทุนมันคงจะง่ายและสบายกว่า แต่อันที่จริง การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก ย่อมต้องมีเหตุผลของมัน และหลายครั้งเหตุผลของมันคือ มันไม่ใช่การลงทุน มันคือเกมส์การพนัน การเข้าใจข้อเท็จจริงข้อนี้ จะช่วยให้เราบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น

6. Prejudice
ความลำเอียงทำให้เราเสี่ยงมากขึ้น เช่นถ้าเรามองว่าหุ้นถูกเกินไป หรือมองว่าแพงเกินไป ฮ่องเต้จีนมีความลำเอียงในการฟังขันทีหรือกุนซือบางคน ย่อมเสี่ยงกว่าการมีใจเป็นกลาง ความลำเอียงเกิดได้หลายลักษณะ เช่นเกิดจากความมั่นใจในฝีมือตัวเอง มีเพื่อนถือหุ้นด้วยหลาย ๆ คน (โดยเฉพาะเซียน) เกิดการจากบริโภคข้อมูลข่าวสารด้านเดียว พุทธองค์กล่างถึงอคติว่ามี 4 ประการคือ 1. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ เช่นชอบหุ้นตัวนี้ ชอบเซียนคนนี้ 2. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง เช่น หุ้นตัวนี้เคยทำเราขาดทุน ไม่ชอบหน้าผู้บริหาร 3. โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง เพราะความเขลา คือความไม่รู้ข้อเท็จจริง 4. ภยาคติ ลำเอียงเพราะความกลัว เช่นในบางครั้งเราไม่ได้กล้าในตอนที่ทุกคนกลัว แต่กลับกลัวมากกว่า ทำให้พลาดโอกาสที่จะได้หุ้นถูก ๆ ซึ่งช่วยเราบริหารความเสี่ยงได้ในระยะยาว

7. Votality
ความผันผวนคือความเสี่ยงในทฤษฎีการเงิน แต่ในความเห็นผม ความผันผวนอันที่จริงไม่ได้ทำให้คุณเสี่ยงเลย ถ้าคุณซื้อหุ้นโดยไม่ได้คิดว่าจะเพื่อจะ”ขาย” ตั้งแต่ต้น การซื้อหุ้นเหมือนการลงทุนทำธุรกิจ แต่มีกับดักคือสภาพคล่องสูงกว่ามาก คือสามารถ exit ได้ตลอดเวลา แต่สภาพคล่องไม่เคยช่วยให้คนลงทุนดีขึ้น ปีเตอร์ ลินซ์บอกว่าถ้าคุณดูหุ้นบ่อยครั้งน้อยลง จะทำให้ผลตอบแทนดีขึ้นโดยแทบไม่ต้องทำอะไร หลายคนพลาดโอกาสทำกำไรเพราะถือหุ้นได้กำไรไม่มากก็ขาย Zone ของ PE ขายของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จควรจะสูงกว่านักลงทุนทั่วไปมาก ๆ เพราะทำให้เขาไม่จำเป็นต้องขายในสภาวะตลาดผันผวน ในทางกลับกันความผันผวนคือเพื่อน คือ Mr. Market ที่เราควรจะคบเขาไว้เป็นมิตร

8. Review
การทบทวนตัวเอง และทบทวนหุ้นที่ตัวเองถือตลอดเวลา คือสิ่งที่ช่วยลดความเสี่ยง โดยปกติ ผมจะทบทวนปีละครั้งแบบจริงจัง ในรายไตรมาสเราก็ดูงบคร่าว ๆ ติดตามข่าวสารของกิจการเป็นหลัก ถ้ากิจการดี พื้นฐานดี แค่ไตรมาส หรือสองไตรมาสไม่ทำให้มันเปลี่ยนไปได้มากขนาดนั้น อย่าลืมว่ากิจการประกอบด้วยคนเป็นร้อยเป็นพัน ลูกค้า และผู้ขาย มากมายนับไม่ถ้วน ถ้าไม่ใช่กิจการที่คุณภาพกำไรน้อย (ซึ่งไม่เข้าข่ายกิจการที่มีคุณภาพ) การทบทวนบ่อย ๆ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น นอกเสียจากคุณยังเข้าใจกิจการดีไม่พอ

ช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน ก็ขอให้บริหารความเสี่ยงตามความเหมาะสมนะครับ อันที่จริงในตลาดมีความเชื่ออีกหลายอย่าง ซึ่งผมเห็นด้วยแค่ครึ่งเดียว (เพราะอีกครึ่งหนึ่งมันคือการบริหารความเสี่ยงของ Trader มากกว่า) เช่นการแนะนำให้เข้าออกเร็ว การ Cut Loss ตั้งจุด Stop Loss หรือแม้แต่การดู Beta, Correlation ดูการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ ปรับมาใช้กับตัวเองให้เหมาะสมสำคัญที่สุด

10 thoughts on “การบริหารความเสี่ยง

  1. 1001ii says:

    nice article krub:-)

    • Verapong Tam says:

      thank you na krub for tweeting this article.

      I think my investment style now is deeply shaped by Buffet and Graham.(obviously, from reading more than 30books related to this two gurus). Try to study more style from someone else. 🙂

  2. tonzero says:

    เจ๋งมาก

  3. jakrapong says:

    ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ นะครับ 🙂

  4. baggio says:

    เยี่ยมเลยครับ ขอถามความเห็นนิดนึงนะครับ

    มีความเห็นอย่างไร กับหุ้นที่มีคุณภาพดี แต่ p/e สูงแล้ว ถ้าเรามีอยู่ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และกำไรมากแล้ว อย่างเช่น BGH BIGC MAKRO ROBINS MINT ประมาณนี้ครับ คือ เสมือนกับว่า ราคาปัจจุบันเหมือนจะเป็นราคาที่เหมาะสมของหุ้นตัวนั้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เราควรขายออกไปบ้าง หรือถือไว้ เพื่อรอการเติบโตของมันในระยะยาวจะเป็นวิธีที่ดีกว่ากันครับ 🙂

  5. Verapong Tam says:

    ต้องเข้าใจตัวเองก่อนครับ ว่าตัวเองลงทุนแบบไหน

    ถ้าเป็น Lynch ก็แยกกลุ่มหุ้นเป็นหมวด ๆ ดูสถานการณ์แล้วลงทุนตามกลยุทธ์นั้น ๆ เช่น ถ้ามอง MINT เป็นวัฎจักร ก็ซื้อและขายตามวัฎจักร (ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำล่าสุด 10-16 บาท ถือเป็นวัฎจักรได้) ถ้ามองเป็นหุ้นเติบโตเร็ว ก็คงมองเห็นได้ในช่วงที่ MINT เริ่มขยายงานหนัก ๆ ช่วงที่ราคา 3-4 บาท

    ถ้าเป็น Buffett ก็มองแต่ Moat อย่างเดียว ถ้าบริษัทมี DCA เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ไม่ต้องสนใจราคา ไม่ต้องสนใจ p/e เลย สนใจเฉพาะตอนซื้อเท่านั้น

    เค้าบอกว่าทุก ๆ อย่างในโลก ต้องแสวงหา ต้องพยายามแสวงหาไปให้ไกลที่สุด เพื่อจะให้เข้าใจความสวยงามของจุดเริ่มต้นที่เรียบง่ายครับ การลงทุนก็ไม่ต่างกันเลย

  6. baggio says:

    แล้วคุณ tam สนใจ p/e ไหมครับ สำหรับหุ้นที่ถืออยู่ในแต่ละตัว การลงทุนของคุณ tam เน้นแนวไหน lynch หรือ buffett ครับ

  7. Verapong Tam says:

    p/e ผมดูเฉพาะตอนซื้อ ตอนที่ถืออยู่ ถ้าแบบ 30 เท่ากลาง ๆ และ PEG เกิน 2-3 เท่าไป อาจจะกดดันให้ผมหาหุ้นตัวใหม่ และสลับตัว อีกส่วนหนึ่งก็คิดว่าเกี่ยวกับตัวกิจการด้วย ผมซื้อบางตัว ไม่เคยคิดว่าจะขาย บางตัวคิดว่าจะขายอยู่แล้วตั้งแต่ตอนซื้อ เพียงแต่เมื่อไหร่เท่านั้นเอง

    ถ้าให้สังเกตตัวเอง ผมคิดว่าสไตล์น่าจะเป็นบัฟเฟตมากกว่าครึ่ง ส่วนที่เหลือน่าจะผสม ๆ หลาย ๆ คนครับ Lynch ก็เป็นคนหนึ่ง

    แต่ผมเริ่มมาคิดว่าผมเป็นนักธุรกิจ ไม่ใช่นักลงทุน

  8. baggio says:

    ขอบคุณมากครับ เป็นความเห็นที่ดีจริง ๆ ครับ

    ปกติผมชอบถือหุ้นคุณภาพสูงอยู่แล้ว เพราะรู้สึกให้ความสบายใจที่จะถือมากกว่าหุ้นที่มีแนวโน้มว่ากำไรจะดีในอีก 1-2 ปีข้างหน้า แต่อาจไม่ยั่งยืน แนวคิดทางการลงทุนอาจคล้ายกับคุณ tam ในบางส่วนครับ

    เหมือนจะเคยเจอคุณ tam นะครับ ที่งานอากงใสอะ พอดีผมเป็นเพื่่อนใสอะครับ ^^

  9. ake says:

    sud yod kab.

Leave a comment

Archives

Blog Stats

  • 359,166 hits