009 สังคม “ยินดีจ่าย”

1

May 15, 2013 by Lin

ผมสังเกตเห็นรูปแบบอีกอย่างหนึ่งของสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ ภายใต้การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งถ้าเทียบระยะเวลาสั้น ๆ ระหว่างปีนี้กับปีที่แล้ว เราจะแทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง แต่ถ้าเอาสิบปี ยี่สิบปีที่แล้ว มาเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะเห็นภาพแตกต่างอย่างชัดเจน

 

สิ่งที่ช่วยให้ผมเห็นเด่นชัดที่สุด คือความเคลื่อนไหวของผู้คน เพื่อนฝูง ใน Social Network ซึ่งเรามาดูกันว่า ไลฟ์สไตล์คนในยุคปัจจุบันทำอะไรกันบ้าง ซึ่งผมอยากเรียกมันรวม ๆ ว่า เป็น สังคม ยินดีจ่าย

 

เริ่มจากการแชร์ภาพถ่ายร้านอาหารใหม่ ๆ ดัง ๆ ที่คนรุ่นใหม่เรียกว่า ชิก ๆ ชิล ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ราคาหลาย ๆ ร้านราคาแพง และให้บริการอาหารชั้นสูง หรือมันอาจจะไม่แพงเกินเอื้อม แต่ราคาก็ไม่สมเหตุสมผลนัก ซึ่งถ้าเป็นในอดีต คงเป็นแค่บางกลุ่มคนหรือบางชนชั้นที่ได้มีโอกาสเข้าไปรับประทาน แต่คนรุ่นใหม่จำนวนมาก “ยินดีจ่าย” ให้กับสิ่งเหล่านี้

 

สิ่งต่อมาคือ การแบ่งปันภาพการเดินทางไปต่างประเทศ การเดินทางในปัจจุบัน แม้จะง่ายกว่าเดิมมาก ด้วยสาเหตุว่าราคาตั๋วเครื่องบินถูกลง และมีทางเลือกการเดินทางในรูปแบบประหยัด แต่การเดินทางแต่ละครั้ง ถ้าเทียบกับรายได้ของชนชั้นกลางทั่วไป ก็เรียกได้ว่าเป็นอัตราส่วนค่าใช้จ่ายที่สูงมาก คนยุคก่อนคงไม่กล้าที่จะเดินทางบ่อย ๆ หรือไปสถานที่แพงขนาดนี้ แต่คนรุ่นใหม่ “ยินดีจ่าย” เพื่อเป็นรางวัลชีวิต

 

และมีอยู่ช่วงหนึ่งก่อนหน้านี้ ที่สมาร์ตโฟนอย่างไอโฟน หรือแบล๊กเบอรี่เพิ่งจะได้รับความนิยม ก็เห็นว่าคนจำนวนมาก ถอยอุปกรณ์ราคาแพงเหล่านี้มาอวดโฉม ทั้ง ๆ ที่สมัยก่อนคนที่ใช้ Nokia รุ่นแพง ๆ จะจำกัดอยู่เพียงคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น รวมถึงระยะเวลาในการซื้อเครื่องใหม่ก็ถี่กว่าแต่ก่อน ไม่เว้นอุปกรณ์ที่เรียกว่า Gadget ต่าง ๆ ของเหล่าชายหนุ่ม หรือกระเป๋าถือแบรนด์เนม ที่ผมไม่เห็นคนรุ่นก่อน ๆ ใช้กันอย่างแพร่หลายขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่คนกลุ่มนั้นมีรายได้สูงกว่า แต่กลับ ไม่ยินดีจ่าย” สิ่งเหล่านี้เหมือนคนในสังคมยุคใหม่

 

เหมือนกับว่าคนยุคใหม่โดยเฉพาะคนชั้นกลาง “ยินดีจ่าย” เพื่อให้ได้รับสินค้าและบริการที่ตัวเองถูกใจ สาเหตุคงเป็นเพราะคนยุค Gen X เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเริ่มต้นจาก Gen Y ไม่เคยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก เช่นภาวะสงคราม หรือสภาวะฝืดเคือง และเป็นช่วงที่พ่อแม่ สะสมความมั่งคั่งทางการเงินหรือมอบ “ความรู้” ในการประกอบอาชีพมาให้อย่างเต็มเปี่ยม และคนรุ่นใหม่ก็ให้ความสำคัญการออมเพื่ออนาคตลดลง รวมถึงการมีเครื่องมือทางการเงินในการกู้มากมาย ทำให้ศักยภาพการจ่ายของคนยุคใหม่สูงกว่าแต่ก่อนมาก และอีกทางหนึ่งคือการเติบโตของสื่อ โฆษณาต่าง ๆ ที่รวดเร็วและดึงดูดกำลังซื้อดีกว่าแต่ก่อน

 

แต่สำหรับมุมมองของนักลงทุนแล้ว ผมมีความเห็นอยู่ดังนี้ครับ

 

  1. นักลงทุนควรหาโอกาส จากสภาวะสังคม “ยินดีจ่าย” แบบนี้ หากิจการที่มีศักยภาพในการดึงลูกค้าวัยรุ่น หรือวัยกลางคน ที่จะเป็นฐานลูกค้าระยะยาวได้ในอนาคต
  2. อย่างไรก็ดี ผมคิดว่า การแค่หากิจการที่ให้บริการหรือขายสินค้าที่ ลูกค้า “ยินดีจ่าย” นั้นไม่เพียงพอ สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ลูกค้าจะต้อง ยินดีจ่าย ซ้ำ ด้วย เพราะในยุคปัจจุบัน กระแสสร้างได้ง่าย และสิ่งใดที่เกิดได้ง่าย ก็ย่อมดับได้ง่ายไม่แพ้กัน
  3. สิ่งที่คนยินดีจ่ายซ้ำ มักจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่า และสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้ยุคปัจจุบันได้ เราจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ถ้าสิ่งไหนเป็นกระแสจำเป็นจะต้องแปลงเป็นความคุ้มค่าหรือ Value ให้ได้เร็วที่สุด ดังนั้น กิจการจำเป็นต้องมีความสามารถในการควบคุมต้นทุน เพราะบริษัทจะสร้าง Value ที่ดีให้กับทั้งผู้ใช้บริการและผู้ถือหุ้นไม่ได้เลย ถ้าปราศจากการควบคุมต้นทุนที่ดีและได้เปรียบคู่แข่งขัน
  4. คนที่ได้ประโยชน์ไม่จำเป็นจะต้องเป็น เจ้าของสินค้าตัวนั้น ๆ เสมอไป อาจจะผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ทำการตลาด หรือเป็นผู้นำสินค้านั้นไปสร้างสินค้าและบริการอีกทีหนึ่ง นักลงทุนที่ดีต้องมองหาผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุด
  5. นักลงทุนควรอยู่เหนือสังคมยินดีจ่าย เราไม่ยินดีจ่ายให้กับสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะชีวิตนักลงทุนที่เรียบง่าย ก่อให้เกิดความสุขที่ยั่งยืนกว่า และที่สำคัญ นักลงทุนควรจะมองไกล เพราะสิ่งที่เรายินดีจ่ายในวันนี้ คือสิ่งที่จะบ่งบอกชีวิตเราในอนาคต

One thought on “009 สังคม “ยินดีจ่าย”

  1. Spoyny says:

    ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ

Leave a comment

Archives

Blog Stats

  • 359,160 hits