011 ทางรถไฟสายเอเชีย

1

May 22, 2013 by Lin

เรามักจะได้ยินคำว่า ถนนสายเอเชียหรือทางหลวงสายเอเชียบ่อย ๆ เพราะเวลาขับรถไปบางปะอิน นครสวรรค์ ก็จะต้องผ่านเส้นทางนี้ จนเรียกกันติดปาก ซึ่งอันที่จริงแล้ว ถนนเส้นนี้ เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของโครงการทางหลวงสายเอเชีย (AH1 และ AH2) ที่เชื่อมจากโตเกียว ยาวไปถึงตุรกีและยุโรปตะวันตกทีเดียว โครงการนี้เป็นความพยายามที่จะเชื่อมต่อประเทศต่าง ๆ ในเอเชียเข้าหากันสำหรับการเดินทางด้วยรถยนต์ ซึ่งถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์เส้นทางนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อหลายพันปีก่อน กองคาราวาน สินค้าหลากหลาย ตลาดบาซ่าห์น้อยใหญ่ระหว่างเส้นทาง นำพาความเจริญและอารายธรรม ให้บรรจบกันทั้งสองทวีป ผ่านเส้นทางการค้าแรก ๆ ของโลกคือ เส้นทางสายไหม” นั่นเอง

 

แต่โครงการที่ยากกว่ามากคือทางรถไฟสายเอเชีย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไม่แตกต่างจากทางหลวงสายเอเชีย คือการเชื่อมโยง การค้าและการลงทุนเข้าหากัน ปัญหาและอุปสรรคใหญ่คือ ทางรถไฟของแต่ละประเทศใช้มาตรฐานขนาดรางที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศไทยใช้รางขนาด 1,000mm (หรือเท่ากับหนึ่งเมตร) ส่วนประเทศอื่น ๆ มักจะมีขนาดรางที่ใหญ่กว่า เช่น 1,435mm ในประเทศจีน หรือ 1,520 ในรัสเซีย หรือยุโรป

 

ความเดิมของทางรถไฟสายเอเชีย หรือถ้าให้พูดเฉพาะเจาะจงลงในภูมิภาคเรา คือทางรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองคุนหมิง และ สิงค์โปร์ นั้นมีการพูดคุยกันมานานนับร้อยปีแล้ว ตั้งแต่สมัยยุคอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส และถูกเร่งให้เร็วยิ่งขึ้น จากนโยบายเปิดการค้าด้านตะวันตกของจีน เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตให้กับคนจีนในตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลจากเขตเศรษฐกิจและการส่งออกตามมณฑลทางตะวันออก เพื่อให้มีทางออกทะเล และส่งสินค้าไปสู่จุดหมายปลายทางได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

สำหรับประเทศจีน รถไฟ ถือเป็นพาหนะหลักในการเดินทาง เนื่องจากรองรับประชากรได้ในจำนวนมาก และมีประสิทธิภาพกว่าการเดินทางด้วยวิธีอื่น ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองก็เกี่ยวข้องกับการรถไฟมาโดยตลอด การที่ส่งรางรถไฟเข้าไปในพื้นที่ไหนได้ แปลว่าจะเกิดการหลั่งไหลของชาวจีนฮั่นเข้าไปทำธุรกิจจำนวนมาก ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในเขตปกครองตนเองอย่างทิเบต หรือซินเกียง ความเจริญทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นเป็นอย่างมากในพื้นที่เหล่านั้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศจีนค่อนข้างสนับสนุนและเป็นหัวแรงสำคัญของทางรถไฟในภูมิภาคอาเซียน

 

ภาพอนาคตสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน หากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงกันสำเร็จ สิ่งนี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิดการเชื่อมโยงกันเองเป็น AEC หรือประชาคมอาเซียนโดยสมบูรณ์ ประโยชน์ทางธุรกิจในไทยจะเกิดการใช้สินค้าและบริการในไทยเพิ่มขึ้น ด้วยความที่ประเทศไทยค่อนข้างเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ จึงน่าจะได้รับประโยชน์มากขึ้นกว่าประเทศอื่น ๆ ภาพเมืองใหญ่ของอาเซียนในอนาคต จะถูกแบ่งออกเป็นหลาย ๆ ศูนย์กลาง เช่น ที่เห็นเด่นชัดในปัจจุบันคือ สิงค์โปร์เป็นศูนย์กลางด้านการค้าทางทะเล และศูนย์กลางด้านการเงิน สำหรับประเทศไทย เมืองหลวงอย่างกรุงเทพ หรือหัวเมืองที่เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญต่าง ๆ จะแสดงบทบาทไหน ก็ล้วนเป็น ภาพใหญ่ที่น่าจับตาทั้งสิ้น เพราะมันจะก่อนให้เกิดโอกาสมหาศาลในแง่การลงทุน และสำหรับนักลงทุนที่มองเห็นภาพนั้นก่อน ย่อมได้เปรียบมาก เพราะสามารถยึดชัยภูมิดี ๆ ทั้งด้านตัวธุรกิจและทำเลได้ก่อนคนอื่น

 

ประโยชน์ในอีกแง่หนึ่งของประเทศไทยคือ ต้นทุนการขนส่งที่จะลดลง และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ประเทศไทยมีการใช้รถไฟน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นอย่างมาก ซึ่งการเดินทางโดยรถไฟมีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่ำ ยิ่งต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องการเดินทางโดยรถไฟยิ่งได้เปรียบ

 

สุดท้าย สิ่งที่ดีที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือ การกระจายตัวของรายได้จะดีขึ้น แหล่งงานไม่จำเป็นต้องกระจุกตัวอีกต่อไป และเป็นแรงขับดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของบางสิ่งบางอย่างในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และยกระดับรายได้ประชาชาติโดยรวมได้ครับ

One thought on “011 ทางรถไฟสายเอเชีย

  1. Spoyny says:

    ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ

Leave a comment

Archives

Blog Stats

  • 359,160 hits