ของฝากจากเกาะชวา

Leave a comment

September 7, 2010 by Lin

เกาะชวาเป็นหนึ่งในกว่า 17,000 เกาะของประเทศอินโดนิเซีย ถือว่าเป็นเกาะที่สำคัญที่สุดของประเทศและยังมีประชากรอยู่มากที่สุด(ในโลก) คือประมาณ 130 ล้านคน อีกทั้งจำนวนประชากรกว่า 200 ล้านคนของประเทศรองเพียงแค่จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้อินโดนิเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ถูกจับตาในอนาคต และได้เป็นหนึ่งในประเทศ G-20


ภาพ บรมพุทโธ หลักฐานแห่งความรุ่งเรืองของเกาะชวาและพุทธศาสนาในอดีต

สำหรับการท่องเที่ยวและการลงทุน หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าประเทศอินโดนิเซียอันตราย ไม่น่าไป ซึ่งคงจะเป็นจริงส่วนหนึ่ง เนื่องจากด้านเศรษฐกิจก็มีความขัดแย้งและช่องว่างระหว่างกลุ่มคนชั้นบน (ที่เป็นเชื้อสายจีน) และกลุ่มคนชั้นกลางล่าง (ที่เป็นคนอินโดพื้นเมือง) ปัญหาทางการเมืองที่เป็นรัฐบาลทหาร ความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์ และภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวและภูเขาไฟ (ทริปนี้ผมเจอ 5 ริกเตอร์เข้าเต็ม ๆ ตึกโยกไปมาเหมือนฟองน้ำ น่ากลัวมาก) อย่างไรก็ดีปัญหาดังกล่าวได้ถูกคลี่คลายไปพอสมควร ในช่วงปฏิรูปอินโดนิเซียในช่วงปี 1997-1998 (Reformasi) ที่เปลี่ยนจากระบบรัฐบาลทหารเป็นประชาธิปไตย ส่งผลให้การบริหารงานทางการเมืองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บรรเทาปัญหาคอรัปชั่นที่สูงมากในช่วงทศวรรษ 70-80

ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ประเทศอินโดนิเซีย มีความน่าสนใจไม่น้อย ตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัยที่การค้าทางทะเลรุ่งเรืองขึ้น (พร้อม ๆ กับการลดบทบาทลงของเส้นทางสายไหมเดิม เนื่องจากการพัฒนาทางการเดินเรือ และอิทธิพลของอาณาจักรเปอร์เซียที่ไม่อำนวยให้เกิดการแลกเปลี่ยนในเส้นทางสายไหมทางบก) นำพาศาสนาพุทธและพราหมณ์ให้อิทธิพลอย่างมากในดินแดนสุวรรณภูมิและเกาะน้อยใหญ่ หลักฐานและวิถีชีวิตของอาณาจักรศรีวิชัยยังพบเห็นมากมายได้ในจารึกบนแผ่นหินของพุทธสถานบรมพุทโธ

ศาสนาพุทธถึงจุดสูงสุดในดินแดนแถบนี้ในช่วงศตวรรษที่ 15 แต่สิ่งใดเกิด ย่อมมีดับสลายเป็นธรรมดา ศาสนาอิสลามได้ค่อย ๆ เข้ามามีอิทธพลแทนที่ผ่านเส้นทางการค้าจากเอเซียกลาง จนเป็นศาสนาหลักของแถบนี้จนถึงปัจจุบัน (ยกเว้นบาหลี ที่ยังคงดำเนินตามศาสนาฮินดูอย่างเหนียวแน่น) นอกจากมุสลิมแล้ว ชาวยุโรปก็เริ่มเดินเรือมาถึงอุษาคเนย์ ด้วยหวังที่จะเผยแผ่ศาสนาคริสต์ผ่านกลุ่มมิชชันนารี และจากแนวคิดอาณานิคมเพื่อมุ่งหวังทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของดินแดนแถบนี้

ประเทศในยุโรปสลับกันเข้าปกครองในรูปแบบอาณานิคม ตั้งแต่ชาวโปรตุเกส และมาถึงชาวดัชต์ที่ปกครองดินแดนแถบนี้กว่า 350 ปี สินค้าที่ชาวยุโรปให้คุณค่าสูงคือเครื่องเทศ โดยเฉพาะลูกจันทร์ซึ่งมีถิ่นกำเนิดเฉพาะบนเกาะแถบนี้ (เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงในยุคนั้น) เมืองหลวงอย่างจาร์กาตา ใช้ชื่อเดิมคือโบทาเวียกว่า 300 ปี และเพิ่งจะเปลี่ยนชื่อมาหลังจากที่ประธานาธิปดีซุกาโนประกาศเอกราช การประกาศเอกราชนี้เป็นช่วงเดียวกันกับหลาย ๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ใต้อาณานิคม ที่อาศัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ

ผมมาทริปนี้ด้วยความอยากมาบรมพุทโธที่ยอร์คยาการ์ตา โดยต่อเครื่องที่จาร์กาตา อาศัย 2 วันสั้น ๆ ชมเมืองหลวงจาร์กาตาที่เต็มไปด้วยห้างใหญ่โต และบริเวณเมืองเก่าที่ Kota และอีก 3 วัน อยู่ที่บรมพุทโธ (บางคนอาจจะเลยไปสุราบาย่าเพื่อดูภูเขาไฟโบรโม่ หรือแวะไปเดียงพลาโต) ด้วยความที่ยอร์คยาการ์ตาเป็นเมืองหลวงเก่า และที่มีประวัติศาสตร์ที่สวยงาม เนื้อหาประวัติศาสตร์และศาสนาพุทธมหายานทำให้ผมดูบรมพุทโธสนุกมากครับ

Tips
จาร์กาต้า สิ่งที่ควรจะดูคือ Monas สัญลักษณ์ของประเทศ Kota บริเวณท่าเรือเก่าของเมืองตั้งแต่สมัยดัชต์ และบริเวณแทมารินที่เป็นศูนย์การทางการค้าและธุรกิจของประเทศ ใช้เวลา 1-2 วันก็พอ

ยอร์คจากาต้า เป็นเมืองที่มีบรรยากาศความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูง ซึ่งสำหรับคนไทยไม่น่าตื่นเต้น ถนนมาลิโอโบโร่ พระราชวังสุลต่าน ในเมืองไม่ใช่ไฮไลท์ แต่เป็นบรมพุทโธ (ใช้เวลาเดินทาง 1 ชม.โดยรถยนต์) ที่เป็นพุทธสถานแท้ ๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (นครวัดนครธมใหญ่กว่า แต่เป็นผสมระหว่างพุทธและพราหมณ์) ประวัติที่จากรึกในกำแพงหินแต่ละชั้นน่าสนใจทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และศิลปะวัฒนธรรม และยังมีพรหมบานันท์ วัดพราหมณ์ฮินดูที่สวยและยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ เสียดายที่บางส่วนถูกทำลายจากแผ่นดินไหวในปี 2006 เนื้อหาบนแผ่นหินทั้งเรื่องมหากาพย์มหาภารตะ หรือรามเกียรติ์ก็พบเห็นได้รอบสถูป

สรุปคือ สิ่งที่ต้องเตรียมตัวไม่ใช่การวางแผนการเดินทาง (เพราะคุณเหมารถได้อย่างง่ายดายและไม่แพง) แต่คือการศึกษาประวัติศาสตร์ครับ

Leave a comment

Archives

Blog Stats

  • 359,166 hits